มัสยิดดารุ้ลอาบีดีน (ทะเบียนเลขที่: 006)

ประวัติความเป็นมาฯ

มัสยิดดารุ้ลอาบีดีน : เลขที่ 6 หมู่ 7 ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ได้มีชุมชนคณะหนึ่งเดินทางมาจาก คลอง 19 ต.หมอนทอง อ. บางน้ำเปรี้ยว จ. ฉะเชิงเทรา มาพร้อมกันประมาณ 40 ครอบครัว คือ อัลมัรฮุมฮัจยีอับอุลกอเดร ซันลัง (ครูเด) นายนุฮ์ มาลัง, นายกอเซ็ม ทศเจริญ, นายหมัด แสงสว่าง, นายกอเซ็ม อรุณพูลทรัพย์, นายมายิด อาดำ, นายหมัด เลาะหนับ, นายเลาะห์ ม่วงดี, นายเด๊ะ มัสเยาะห์, นายลี สมานมิตร, นายซอและห์ มัสเยาะห์, นายเซ็น นัยโพธ์, นายสะอาด ยะก๊บ, นายสมหวัง หมัดหมุด, นายมาน ชื่นชม, นายมาก ธรรมมะ, นายหร่น ดอรามาน, นายยูนุช อาดำ, นายซอและห์ ชื่นชม, นายสมหวัง มุมิ, นายหมัด ดอรอมาน, นางอามีนะห์ เอี่ยมใจรัก, นายมารียะห์ เอี่ยมใจรัก, นายเด๊ะ มาลัง, นายดอรอมาน มาลัง, นางเซาะห์ ซันลัง, นายดนมายีด สมานมิตร, นายเซ็น มังคลัง, นายหวัง ริสมัน, นายหมุด หวังสาสุข, นายยะฟัด เอี่ยมใจรัก, นายหมัด สมานมิตร, นางเนาะห์ แสงสว่าง, นายฮาซัน เลาะหนับ, นายวาฮับ ซันลัง, นายยาซีน ดอรอมาน, นายหมุด มังหนับ, นายซอและห์ มิดอำพัน เมื่อมาถึงก็มาทำที่พักรวมกัน เป็นอาคารไม้มุงด้วยจาก ฝาเป็นจาก อาชีพตอนแรกคือตัดฟืนเผาถ่านเพราะภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบ พอได้ฤดูเกี่ยวข้าวก็กลับไปเกี่ยวข้าวที่ อ. บางน้ำเปรี้ยว อีกเพื่อเอาข้าวมาเป็นเสบียงในการอยู่รอด พอกลับมาอีกครั้งก็แยกย้ายกันไปอยู่ตามที่ของตัวเอง และได้เอาที่พักอาศัยครั้งแรกทำเป็นมัสยิด

โดยมีอัลมัรฮูมฮัจยีอับดุลกอเดร ซันลัง (ครูเด) เป็นอีหม่ามคนแรก มัสยิดหลังแรกที่แปรสภาพจากบ้านพักชั่วคราวจึงเป็นเพิงหลังคามุงจาก พื้นไม้กระดาน ฝาจาก อยู่อย่างนั้นมา 5 ปี เพราะหลังคาก็หลุดไป ฝาก็หลุดไปตามกาลเวลา จึงได้ประชุมกันเพื่อสร้างมัสยิดใหม่ โดยไม่มีใครมีเงินเลย ที่ประชุมจึงมีมติว่า เมื่อคนที่เผ่าถ่านได้ 1 กระสอบให้บริจาคเข้ากองกลาง 50 สตางค์ ในการขายถ่านทุก ๆ ครั้ง ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จนเมื่อประมาณ วันที่ 10 เดือนมกราคม พ.ศ. 2510 เป็นวันเริ่มก่อสร้างมัสยิดและเป็นวันวางรากฐานและใช้ชื่อว่ามัสยิดดารุ้ลอาบีดีน โดยมีครูเด เป็นอีหม่าม เป็นแกนนำคนแรกสัปบุรุษ ในขณะนั้นได้ช่วยกันทั้งแรงกายและทุนทรัพย์สร้างมัสยิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจนมีหลังคามุงกระเบื้อง มีฝา พอละหมาดได้ ก็ต้องหยุดการก่อสร้าง เพราะเยาวชนของแต่ละคนไม่ได้เรียนศาสนา ส่วนสามัญก็ต้องเดินไปเรียนที่ตลาดนัด นิคม กม.5 ระยะทางไปกลับก็ประมาณ 5 กม.เศษ จึงคิดที่จะก่อสร้างโรงเรียนสามัญ หลังจากที่ประชุมและติดต่อกับทางราชการในระยะหนึ่ง เราก็ได้สร้างอาคารโรงเรียนขึ้นมาหลังหนึ่งชื่อว่าโรงเรียนประชาบูรณะวิทยา อยู่ตรงข้ามกับมัสยิดดารุ้ลอาบีดีน ในขณะนั้น เราก็ได้ใช้อาคารเรียนของโรงเรียนประชาบูรณะวิทยา อยู่ตรงข้ามกับมัสยิดดารุ้ลอาบีดีน ในขณะนั้น เราก็ได้ใช้อาคารเรียนของโรงเรียนประชาบูรณะวิทยาเป็นโรงเรียนสอนศาสนาไปด้วย อยู่อย่างนั้นมาประมาณ 8 ปีเศษ มีครูใหญ่ย้ายเข้ามาใหม่และห้ามไม่ให้สอนศาสนาในโรงเรียนประชาบูรณะวิทยา จึงคิดที่จะก่อสร้างอาคารเรียนสอนศาสนาประจำมัสยิด และก็ได้เริ่มก่อสร้างโรงเรียนประจำมัสยิดดารุ้ลอาบีดีน เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2522 โดย อ.มานิต เกียรติธาลัย วางศิลารากฐานจน โรงเรียนแล้วเสร็จใช้เวลา 8 ปี

กลับมาดูเรื่องมัสยิด อัลมัรฮูมอับดุลกอเดร ซันลัง ได้อยู่ที่ประจวบฯ เป็นผู้นำอยู่ระยะหนึ่งในช่วงนั้นมัสยิดยังไม่ได้จดทะเบียน อัลมัรฮูมฮัจยีอับดุลกอเดร ซันลัง ก็ย้ายกลับไปคลอง 19 จ. ฉะเชิงเทราตามเดิม ต่อจากนั้น นายหมัด แสงสว่าง ก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอีหม่ามเป็นคนที่ 2 และมัสยิดดารุ้ลอาบีดีนก็ได้รับการจดทะเบียนในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 โดยมีนายหมัด แสง-สว่าง เป็นอีหม่าม เมื่อโรงเรียนทั้ง 2 ที่ได้ถูกสร้างเสร็จแล้วก็เริ่มที่จะกลับมาสร้างมัสยิดอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันไปถึงไหน นายหมัด แสงสว่าง ที่ดำรงตำแหน่งอีหม่ามก็เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์และเสียชีวิตในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2520 หลังจากนั้น นายลี สมานมิตร ก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอีหม่าม การก่อสร้างมัสยิดก็เริ่มมาเอาจริงอีกครั้ง แต่ก็ต้องหยุดชะงักอีก เมื่อนายลี สมานมิตร เจ็บป่วยและต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเสียเป็นส่วนใหญ่ นายลี สมานมิตร จึงขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่มีความสามารถจะทำหน้าที่ได้ การก่อสร้างมัสยิดก็หยุดชะงักลงอีกหลังจากนั้นนาย ฮารูณ ขันธปราชญ์ ก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอีหม่าม ได้ชั่วระยะหนึ่งก็ต้องลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัวจากนั้นนายกอเซ็ม อรุณพูลทรัพย์ ก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง การก่อสร้างก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จหลังจากนั้นนายกอเซ็ม อรุณพูลทรัพย์ ก็ลาออกไปอีกคนด้วยเหตุผลส่วนตัว ต่อจากนั้นนายลี สมานมิตร ก็กลับมาดำรงตำแหน่งอีหม่ามอีกครั้ง หลังจากที่สุขภาพเริ่มดีขึ้น การก่อสร้างมัสยิดก็มาเอาจริงเอาจังอีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 โดยใช้การจัดงานในแต่ละปีและขอรับบริจาคจากผู้ใจบุญที่มีความประสงค์จะทำซอดาเกาะห์จนมัสยิดมาแล้วเสร็จจนได้ใน พ.ศ. 2548 และจัดงานพิธีเปิดป้ายฉลองอาคารมัสยิดหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2549 รวมระยะเวลาการก่อสร้างที่ยาวนานมา 40 กว่าปี ใช้งบประมาณก่อสร้างไป 3 ล้านกว่าบาท

ปัจจุบันมัสยิดดารุ้ลอาบีดีน ตั้งอยู่เลขที่ 6 ม.7 ต. อ่าวน้อย อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มี นายลี สมานมิตร เป็นอีหม่าม นายบุคคอรี ซันลัง เป็นคอเต็บ นายฮาซัน เลาะหนับ เป็นบิหลั่น มีที่ดินวากัฟ 10 ไร่ 2 งาน โดยมีนายอิสมาแอล เลาะหนับ วากัฟ 5 ไร่ ฮัจยีเต็บ เด็งแพร วากัฟ 3 ไร่ ฮัจยีอับดุลกอเดร นิยมราษฏ วากัฟ 1 ไร่ ฮัจยีมะห์มูด หวังสาสุข วากัฟ 2 งาน อัลมัรฮูมฮัจยีอับดุลกอเดร ซันลัง (ครูดู) วากัฟ 1 ไร่ เป็นมัสยิดที่มีสัปปุรุษอยู่กว่า 100 ครัวเรือน มีประชากร 1,000 กว่าคน เป็นมัสยิดใน จ. ประจวบฯ ที่มีประชากรมากที่สุด




มัสยิดดารุ้ลอาบีดีน
ที่ตั้งเลขที่:   หมู่ที่: 7  ถนน/ตรอก/ซอย:   ตำบล/แขวง: อ่าวน้อย  
อำเภอ/เขต: เมืองประจวบคีรีขันธ์   จังหวัด: ประจวบคีรีขันธ์   รหัสไปรษณีย์: 77210  เบอร์โทรศัพท์:
จำนวนผู้เข้าชม: 12,420