ประวัติโดยย่อมัสยิดปากีสถาน อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ที่ตั้ง มัสยิดปากีสถานตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 เทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับอาคารพาณิชย์ของเกียรติเจริญชัยการก่อสร้าง
ทิศใต้ ติดกับอาคารพาณิชย์ร้านจุฬาการไฟฟ้า
ทิศตะวันออก ติดกับถนนสายละงู-ปากบารา
ทิศตะวันตก ติดกับถนนซอยประชาบำรุงเทศบาลตำบลกำแพง
ชาวปากีสถานกลุ่มแรกที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 3-4 และตั้งถิ่นฐานในอำเภอละงู จังหวัดสตูล บริเวณหมู่บ้านโกตา โดยเดินทางมาทางเรือขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ปีนัง สิงคโปร์ และพม่า มารับส่งสินค้าที่ท่าเรือแห่งนี้ แต่ปรากฏว่าชุมชนปากีสถานชุดแรกนี้ไม่ได้สร้างมัสยิด เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏอยู่ มีแต่ร่องรอยของกุโบร์ฝั่งศพที่ป่าช้ามุสลิมฝั่งตรงข้ามบ้านห้วยหนาบโยะ ชาวบ้านเรียกว่า เปลวเทศ มีสัญลักษณ์ (ตาหนา) แบบสถาปัตยกรรมปากีสถานปรากฏอยู่ที่หลุมฝังศพจนถึงปัจจุบันนี้
ชาวปากีสถานชุดที่สองได้เข้ามาประเทศไทยประมาณรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้ามาค้าขาย ได้เดินทางด้วยเรือโดยสาร บ้างเดินทางข้ามพรมแดนจากปากีสถานมาขึ้นรถไฟจากอินเดียมาจดพรหมแดนพม่า เดินเท้าเข้ามาค้าขาย บ้างทำงานรับจ้าง เดินทางเข้าประเทศไทย พวกมีเงินติดตัวมาก็ทำการค้าขาย พวกที่มีเงินมาน้อยก็ทำงานรับจ้างและได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอละงู จังหวัดสตูล จนบางคนร่ำรวยสามารถซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ บางส่วนได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่กิ่งอำเภอทุ่งหว้า ชุมชนชาวปากีสถานได้มีความคิดที่จะสร้างมัสยิด จึงได้ปรึกษาหารือกัน โดยมีนายอับดุลกาฟุด ปาทาน นายมะหะหมัดอุเส็น ปาทาน นายฮารัสธมาน ปาทาน นายสมัน ปาทาน นายดนละ ปาทาน นายมาม่า ปาทาน ฮัจยีโบสตัน พิรุอาลี นายอับดุลเราะหมาน ปาทาน นายฮีรี ปาทาน นายวาเส็น ปาทาน นายอับดุลราซิด ปาทาน ได้ร่วมกันสร้างมัสยิดในที่ดินของนายอับดุลกาฟุดได้บริจาค โดยรวมทุนกันสร้างมัสยิดหลังแรกมุงหลังคาด้วยสังกะสีตัวอาคารเป็นฟากระดาน จุผู้คนประมาณ 20 คน โดยผู้ทำหน้าที่อิหม่ามชื่อนาย มะหะหมัดอุเส็น ปาทาน ต่อมามีชาวปากีสถานเดินทางมาอยู่อำเภอละงูมากขึ้น ส่งผลให้มัสยิดเริ่มคับแคบ ผู้ก่อตั้งมัสยิดได้ล้มหายตายจากไป มัสยิดหลังแรกใช้ประกอบศาสนกิจเป็นเวลาหลายปีสันนิษฐานว่าประมาณ 10-15 ปี
บุคคลรุ่นต่อมา ได้แก่ ฮัจยียูโสบคาน ฮัมดาหลี นายบาดัสชาน อาดุลเบบ นายราฮิมดาด ปาทาน นายอับดุลราฮิม ปาทาน นายตาวาบ ปาทาน นายการิม นุสซาลี นายสุลตาน อาลีก่อคาน นายอายุบ อับดุลลา นายยูนุช ปาทาน นายคารีแระหมาน ปาทาน นายมุสลีคาน ปาทาน นายฮาหรน อับดุลลา นายอับดุลรอมาน ปาทาน นายนูร์มะหะหมัด ปาทาน และอีกหลายท่าน ได้ประชุมจะสร้างมัสยิดหลังใหม่ โดยได้ไปปรึกษากับนายเจ๊ะอับดุลลา หลังปูเต๊ะ ซึ่งท่านเป็นประธานคณะอิสลามประจำจังหวัดสตูลในสมัยนั้น และเป็นผู้มีบทบาทในทางศาสนา ซึ่งท่านได้ปรารภว่า ถ้าจะสร้างมัสยิดให้มาสร้างในที่ดินของท่าน บริเวณสี่แยกปากปิงในปัจจุบัน และคณะชาวปากีสถานที่ได้ปรึกษากับนายเจ๊ะอับดุลลา ได้นำเรื่องมาหารือกัน ตกลงสร้างที่เดิม เพราะที่ใหม่นั้นขยายไม่ได้เพราะด้านหลังเป็นบ้านพักของปลัดดุสิต สมันตรัฐ บุตรเขยของท่าน และได้แต่งตั้งนายเศษฮารัสดัลชา สาอิด เป็นอิหม่ามคนแรกของมัสยิดปากีสถาน ได้ช่วยกันออกแบบและก่อสร้าง ได้จ้างช่างชาวจีนเป็นนายช่างใหญ่ คือนายเจี้ยว แซ่ล่อง ส่วนอิหม่ามออกหาทุนจากต่างจังหวัดในพวกปากีสถานด้วยกันมาสมทบทุนในการก่อสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบสถาปัตยกรรมของปากีสถานกว้าง 730 เมตร ยาว 360 เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หลังคาตรงกลางยกสูง แล้วลาดลงมา ฝาอาคารกันด้วยปูนซีเมนต์ เค้าโครงเดิมยังเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนั้นชาวปากีสถานที่อยู่ในอำเภอละงู ยังรวบรวมเงินต่อเติมอีก 820 เมตร และยังได้รับบริจาคนายมุสลีคาน ปาทาน ซึ่งเป็นผู้รับมรดกจากบิดา ได้อีก 1 แปลง ส่วนด้านหลังของมัสยิดจำนวน 2 งาน 64 6/10 ตารางวา ซื้อจากนางจู้ ซึ่งเป็นชาวอำเภอทุ่งหว้า และได้รับที่ดินบริจาคจากนายยูมะคาน ฮัมดาหลี จำนวน 49 3/10 ตารางวา ซึ่งซื้อมาจากนายสำราญ ลิ่มวิริยะกุล
ปัจจุบันชาวปากีสถานที่ได้ร่วมสร้างมัสยิดบางคนก็เดินทางกลับไปยังประเทศปากีสถาน บางคนก็เสียชีวิตในอำเภอละงูพร้อมกับภรรยาซึ่งเป็นคนไทย นับถือศาสนาอิสลาม และมัสยิดปากีสถานได้ทำการจดทะเบียนมัสยิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2498 หมายเลขทะเบียนมัสยิด 57 ขึ้นต่อสำนักงานอิสลามประจำจังหวัดสตูล โดยมีอีหม่ามคนแรกของมัสยิดปากีสถานนายเศษฮารัดดัลชา สาอิด (มัสยิดปากีสถานหลังนี้สร้างมาแล้วเป็นเวลา 65 ปีโดยประมาณ) ปัจจุบันชาวปากีสถานกลุ่มนี้ได้เสียชีวิตไปแล้วทุกคน
สภาพมัสยิดปากีสถานปัจจุบันได้ปรับปรุงใหม่ให้สวยงามทั้งตัวอาคารทรงเดิมของมัสยิดเดิมทาสีสวยงามและได้ต่อเติมมัสยิดยาวประมาณ12 เมตร กว้าง 10 เมตร โดยใช้กองทุนจากประเทศคูเวตและสับปุรุษสมทบด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย ห้องละหมาดแยกชายหญิง อาคารอเนกประสงค์ ที่อาบน้ำละหมาด ห้องน้ำ ห้องส้วม มีห้องธุรการไว้สำหรับเก็บเอกสารอย่างเป็นหมวดหมู่ มีห้องรับแขกสำหรับแขกที่มาค้างคืน ติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในมัสยิด ส่วนบริเวณด้านหลังมัสยิดเป็นกุโบร์มัสยิดปากีสถาน
รางวัลเกียรติบัตร
1. วันที่ 18 กันยายน 2555 ได้ผ่านการประเมินรับรองมาตรฐาน มัสยิดส่งเสริมสุขภาพ ระดับดี ประจำปีพุทธศักราช 2555
2. วันที่ 15 พฤษภาคม 2559 มัสยิดปากีสถานได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละเป็นอันดับที่ 5 ของจังหวัดสตูล โครงการติดตามและประเมินผลมัสยิดตามเกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำปี 2559
3. วันที่ 18 สิงหาคม 2559 ได้ผ่านการประเมินรับรองมาตรฐาน มัสยิดส่งเสริมสุขภาพ ระดับดีมาก ประจำปีพุทธศักราช 2559