มัสยิดบูเก็ตตรี
มัสยิดหรือศาสนสถานแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 2400 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล จดทะเบียนเลขที่ 20 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2492
เป้าหมายสำคัญสร้างอาคารครั้งแรก เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับปฏิบัติอีบาดะห์ของมวลพี่น้องทั้งที่อยู่ในละแวกบ้านโคกและพี่น้องที่อยู่ห่างไกลอีกหลายหมู่บ้าน อาทิเช่น หมู่บ้านจีน บ้านเขาหาบเคย บ้านวังพะเนียด บ้านโคกมุด บ้านโคกมะพร้าว บ้านบูฆอเล้าะ และบ้านไร่ ฯลฯ
สมัยที่ความเจริญยังเข้ามาไม่ถึงนั้น หากจะไปพบปะหาสู่กันระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ค่อนข้างยากลำบากเพราะไม่มีถนน ชาวบ้านที่อยู่ห่างออกไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ จึงต้องเดินลัดเลาะป่า ข้ามทุ่ง เดินบนคันนามาเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาละหมาดและมาร่วมญามาอะห์ในวันศุกร์ และมาร่วมงานกิจกรรมทางศาสนาเมื่อมัสยิดจัดขึ้น ณ ศูนย์กลางที่บ้านโคกแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น
อาคารของมัสยิดหลังแรกผนังของอาคาร โดยรอบก่อกั้นฝาด้วยดินทรายผสมปูนอัดเป็นแผ่น แทนอิฐ ส่วนเบื้องบนหลังคาคลุมแดดคลุมฝน มุงด้วยจาก เวลาผ่านไปราว ๆ 6 ปี ฝาผนังเกิดชำรุดแตกร้าว ได้มีการปรับปรุงครั้งแรกด้วยการรื้อทำลายผนังกั้นฝา เพื่อเปลี่ยนใช้แผ่นสังกะสีมาป็นฝากั้น กับรื้อหลังคาเปลี่ยนเป็นแผ่นสังกะสี มุงแทนหลังคาจาก
หลายปีต่อมา เป็นช่วงที่สาม เห็นว่าฝากั้นสังกะสีทุกแผ่น และสังกะสีมุงหลังคาเสื่อมสภาพ เริ่มปรากฎผุ กรอบเป็นสนิม ทั้งฝากั้นและหลังคา จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอีกครั้ง ผนังกั้นทั้ง 4 ด้านใช้ไม้กระดานตีฝา หลังคาก็เปลี่ยนจากสังกะสีเป็นมุงด้วยกระเบื้องดินเผา
อดีตที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนวัสดุเป็นช่วง ๆ สามครั้งนั้น ผู้อาวุโสสูงอายุที่ยังมีชีวิตยืนยันกับผู้เขียนว่าถ้าจำไม่ผิดอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2453 - 2468 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 ตรงกับฮิจเราะห์ศักราช 1333 - 1348
ลุถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7 ในปีพุทธศักราช 2478-2484 คณะผู้ดูแลมัสยิดนำโดยอัรมัรฮูม ฮัจยี ยะอ์ฟ๊าร อาดำ และฮัจยีอับดุลฮามิด แก้วสลำ ผู้อาวุโสสองท่านในเวลานั้นมีความคิดริเริ่ม ได้ปรารภกับผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดว่า สถาบันศาสนาของเราซึ่งมีอยู่หนึ่งเดียวในกอเรี๊ยะห์นี้ นับวันนอกจากจะคับแคบแล้ว วัสดุที่ประกอบทุกส่วน จะเสื่อมสภาพตามกาลเวลาและวิตกกังวลว่า อนาคตข้างหน้าจะไม่พอรองรับกับจำนวนผู้ที่มาร่วมประกอบศาสนกิจอย่างแน่นอน สมควรจะระดมความคิดหาลู่ทางพัฒนาเสริมสร้างขยับขยายครั้งใหญ่แต่เนิ่น ๆ เป็นการเตรียมพร้อมล่วงหน้ารองรับความเจริญของหมู่บ้านซึ่งจะเป็นชุมชนใหญ่ในวันข้างหน้า ประกอบกับต้องเตรียมรองรับสัปปุรุษที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต ยามนั้นผู้ใหญ่ทุกคนต่างช่วยกันคิดพิจารณาอย่างกว้างขวาง จะมีลู่ทางใดที่จะได้มาซึ่งปัจจัยก้อนโตมาบูรณาการศูนย์ปฏิบัติอีบาดะฮ์อันเป็นสมบัติส่วนรวมซึ่งมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวนี้ให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ความมั่นคงถาวรและทันสมัย สัปปุรุษและมุสลิมะห์ส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวกับข่าวกรณีนี้ ส่งผลให้ทุกคนเห็นสอดคล้องขานรับถ้วนหน้าเพราะถือเป็นภารกิจของผู้ศรัทธา พร้อมจะร่วมด้วยช่วยกันให้ความร่วมมืออย่างเต็มความสามารถ การพัฒนาอาคารมัสยิดครั้งสำคัญ จึงมีการวางแผนระยะยาว โดยได้มีฉันทามติเห็นชอบร่วมกันในที่ประชุมเพื่อให้ได้มาซึ่งงบดำเนินการกล่าวคือต้องสำรองเงินไว้ที่ตัวเลขไม่ต่ำกว่าเจ็ดหลัก
ตามข้อสรุปในที่ประชุมมี 3 ประการกล่าวคือ
1. จัดงานออกร้านจำหน่ายอาหารการกุศลปีละ 1 ครั้ง เป็นเวลาต่อเนื่อง 3 ปี
2. สัปปุรุษลูกบ้านทุกครัวเรือน ร่วมมีส่วนแสดงจิตศรัทธาช่วยกันบริจาคทาน ซอดาเก๊าะห์ยารียะห์ เพื่อสมทบทุน
3. สื่อประสานกับทางราชการกรมศาสนา ขออนุเคราะห์อุดหนุนงบช่วยเหลือด้านศาสนา ตามพระราชกฤษฎีกล่าวว่าด้วนการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 ตามมาตรา 35 วงเล็บ(1)
ผลของการที่บรรดาสัปปุรุษและลูกบ้านร่วมมือพร้อมใจกันผนึกกำลังทำงานตามสติปัญญา พลังความสามารถเพื่อสนองเจตนารมณ์ ในที่สุดบรรลุผลสำเร็จตามเปาหมายที่พึงปรารถนา หลังจากจัดงานการกุศลต่อเนื่อง 3 ปี หักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือเงินรายรับสุทธิ 1,420,000 บาท สัปปุรุษและบรรดาแม่บ้านทุกเครือเรือนในตำบล และบุคคลนอกตำบลร่วมหลั่งน้ำใจบริจาครายละ 500 ถึง 1,000 บาท เปิดโอกาศให้บริจาคได้นานถึง 3 ปี ได้เงินโดยรวม 1 ล้านบาทเศษ ได้รับเงินอุดหนุนจากทางราชการกรมศาสนา 4 งวด งวดละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท ขณะทีมงานกำลังเร่งระดมทุนตลอด 3 ปีนั้น ฝ่ายดำเนินงานก่อสร้างอาคารมัสยิดก็ปฏิบัติงานไปพร้อม ๆ กันด้วย
ปัญหาที่ตามมาเรื่องสุดท้ายคือที่ดิน แต่เดิมเป็นที่ดินซึ่งเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์คือ อัรมัรฮูม มูซา และอัรมัรฮูมะห์ มูนะฮ์ แก้วสลำ สองสามีภรรยานี้ได้อุทิศยกที่ดินวากั๊ฟให้สร้างมัสยิดตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20605 ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา ได้ถ่ายโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมัสยิด ณ วันที่ 17 กันยายน พ.ศ 2539 อาคารใหม่จะต้องขยายโครงสร้างให้ใหญ่กว่าอาคารเก่าก็เกิดปัญหาที่ดินมีเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด มัสยิดสร้างเต็มเนื้อที่ไม่มีที่ว่างจึงได้ปรึกษากับเจ้าของที่ดินข้างเคียงซึ่งได้ชี้แจงทำความเข้าใจเจ้าของที่ดิน ยอมรับด้วยเหตุผลและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ที่ดินด้านทิศเหนือยาว 4 เมตร อัรมัชฮูมะห์ แชอ๊ะห์ ตกลงขายในราคา 3,000 บาท ที่ดินด้านทิศใต้ยาว 8 เมตร อัรมัรฮูมะห์ เซาวดะห์ ขายในราคา 4,000 บาท เมื่อผนวกกับที่ดินตามที่ได้รับถ่ายโอนในหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์จะมีเนื้อที่รวมทั้งหมด กว้าง/ยาว 26.50 x 36.50 ตรม. อาคารของมัสยิด ที่ปรากฏปัจจุบันโครงสร้างทุกส่วนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กได้มาตรฐาน ขนาดของอาคารกว้าง/ยาว 13 x 38 ตรม. รวมเฉลียง ตั้งกึ่งกลางที่ดินมีกำแพลงรั้วอิฐบล็อกล้อมโดยรอบ ด้านซ้ายวัดจากแนวระเบียงถึงกำแพงรั้วเว้นที่ว่าง 8.00 เมตร ด้านหลังจากแนวลูกกรงเฉลี่ยจรดกำแพงรั้วเว้นที่ว่าง 3.30 เมตร ส่วนด้านหน้าทิศตะวันตกวัดจากแนวผนังอาคารจรดกำแพงรั้วเว้นที่ว่าง 3.70 เมตร
ย้อนอดีตตอนก่อสร้างเมื่อ 56 ปีก่อนราว พ.ศ 2497 หรือ ฮ.ศ. 1376 ตามเวลาดังกล่าว 4 ปีก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร.9 จะทรงได้รับอันเชิญขึ้นครองราชย์สมบัติ หรือสมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายยกรัฐมนตรี
การดำเนินการก่อสร้างอาคารมัสยิดหัวหน้าช่างผู้ควบคุมงานได้แก่ ฮัจยี ฮูเซ็น แก้วสลำ (บุตรของอัรมัรฮูม มูซา แก้วสลำ) นายอิสมาแอล แก้วสลำ และนาย มูฮำมัด อาดำ สมทบด้วยแรงงานชายฉกรรจ์บุตรหลานของสัปปุรุษจำนวนหนึ่ง (ผู้เขียนขออภัยที่ไม่สามารถระบุชื่อ) ผลัดเปลี่ยนร่วมด้วยช่วยกันเสียสละกำลังกายเต็มที่ ทุกคนทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องการดำเนินการได้รับเนี๊ยะมัตจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ให้งานก่อสร้างรุดหน้าไปเป็นลำดับด้วยความสมานฉันท์และความสามัคคีที่มีอยู่ในหมู่คณะเป็นพลังในการพัฒนา จนกระทั่งประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในปั้นปลายคือแล้วเสร็จปลายปี 2494
แม้โครงสร้างบางส่วนยังค้างคาไม่ครบวงจร แต่ก็ถือได้ว่าสมบูรณ์แล้วในระดับหนึ่งอย่างเต็มภาคภูมิ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี สรุปยอดค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 2,500,000 บาท บ้านบูเก็ตตรี คือชื่อของมัสยิด ผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีตตั้งชื่อตามตำบลที่อยู่โดยอัตโนมัติ มัสยิดบ้านบูเก็ตตรี ชื่อนี้เรียกขานมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนานนับศตวรรษ
ย้อนอดีตนับตั้งแต่ก่อตั้งมัสยิด จวบจนถึงปัจจุบันยาวนาน 167 ปี มีบุคคลดำรงตำแหน่งผู้นำหรืออีหม่ามประจำมัสยิด แล้วรวม 7 ท่าน แต่ละท่านมีคุณวุฒิวัยวุฒิ ล้วนตะวัซซุลด้วยความดีมีอีหม่ามตามบทบัญญัติ เรียงลำดับบุคคลผู้มีนามต่อไปนี้
1. ละใบอุสมาน อาดำ พ.ศ. 2400 2430 รวม 30 ปี
2. ละใบอับดุลเลาะฮ์ (ดล) คงสวัสดิ์ 2430 2463 รวม 33 ปี
3. ละใบสมาอูน ฮะปาน 2463 2478 รวม 15 ปี
4 .ฮัจยี ยะอ์ฟ๊าร อาดำ 2478 2518 รวม 40 ปี
5. ฮจยี อับดุลฮามิด แก้วสลำ 2518 2535 รวม 17 ปี
6. ฮัจยี อิบรอเหม อาดำ 2535 2555 รวม 20 ปี
7. ฮัจยี และ อาดำ 2555 2567 รวม 12 ปี
8. ฮัจยี อิบรอเหม อาดำ 2567 ปัจจุบัน
มัสยิดบ้านบูเก็ตตรี อาคารหลังแรกสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2400 ศาสนสถานโบราณเก่าแก่เป็นอับดับ 2 รองจากมัสยิดมำบัง หรือมัสยิดกลางของเมือง นครีสะโตย ในอดีตสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2390 ศาสนสถานแห่งนี้ จึงถือได้ว่าเป็นตำนานมัสยิดร่วมสมัย สีแผ่นดิน ของพระมหากษัตริย์ไทย คือแผ่นดินสมัย ร.4 ร.6 ร.7 ร.9
ประวัติความเป็นมาของมัสยิดบ้านบูเก็ตตรีฉบับนี้ ผู้เขียนบรรจงลำดับความที่ได้จากการถ่ายทอดโดยผู้รู้อาวุโสสูงอายุ อย่างละเอียดและรัดกุมและรอบคอบก่อนจะประมวลความออกมาบันทึกเป็นรูปธรรมด้วยตัวอักษรประดับไว้เตือนความจำ เพื่อสดุดีเกียรติคุณและน้อมรำลึกถึงบรรพบุรุษของคนที่นี้และผู้ร่วมงานที่ล่วงลับและยังมีชีวิตอยู่ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่ส่วนรวมที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง บรรดาท่านเหล่านั้นในอดีตทั้งที่ปรากฏนามและไม่ปรากฏนาม ได้ผนึกกำลังประกอบคุณงามความดีอันใหญ่หลวง เสียสละหยาดเหงือ กำลังกายกำลังใจและสติปัญญาเพื่อร่วมมือกันพัฒนาศาสนสถานนี้ไว้ให้เป็นสมบัติมรดกอันล้ำค่า เป็นอนุสรณ์สถานสืบทอดให้ทายาทลูกหลาน มวลมุสลีมีนและมุสลีมะฮ์ รวมทั้งอนุชนคนรุ่นต่อ ๆ ไป ที่ทยอยตามมาเป็นประชากรในตำบลนี้ ใช้เป็นศูนย์รวมปฎิบัติศาสนากิจร่วมกันต่อ จงช่วยกันพิทักษ์ทะนุบำรุงรักษาให้สถาบันศาสนาแห่งนี้สถิตสถาพรเป็นศรีสง่าชุมชนอย่างยั่งยืนตลอดไป