มัสยิดอิกอมุสซอลาฮ์ (ทะเบียนเลขที่: 036)

ประวัติความเป็นมาฯ

มีข้อสันนิษฐานว่าชาวไทยมุสลิมหมู่บ้านหนองจอกน่าจะอพยพมาอยู่ในพื้นที่นี้ราวปี พ.ศ.2450 -2460 จากการบอกเล่าของนายเลาะ อิสิงห์จันทร์ซึ่งได้อพยพจากอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีมาอยู่ที่หมู่บ้านหนองจอก เมื่อปี พ.ศ. 2478 เพราะตัวเขาเองอพยพมาอยู่เป็นรุ่นที่สอง ก่อนหน้านั้นเคยก็มีมุสลิมมาตั้งถิ่นฐานที่นี่แต่เนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัยทุกปีจึงย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ต่อมาปี พ.ศ.2579 นายเด้ชและนางวอ รำมะสิทธิ์สองสามีภรรยาซึ่งมีรกรากอยู่ที่ตำบลปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็พาครอบครัวอพยพมาหาที่ทำกินแห่งใหม่โดยมาจับจองพื้นที่ในหมู่บ้านหนองจอกเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพราะบริเวณนี้ขณะนั้นยังมีผู้คนอาศัยเพียงไม่กี่หลังคาเรือน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์น้ำชุกชุมหลังจากนั้นก็เริ่มมีพี่น้องมุสลิมจากอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี อำเภอเปร็งจังหวัด ฉะเชิงเทรา มามีครอบครัวและตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่จนปัจจุบันมีพี่น้องมุสลิมในจังหวัดทางภาคใต้จากอำเภอย่าตาขาวจังหวัดตรัง อำเภอท่าศาลา อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมอยู่ด้วย แต่มุสลิมส่วนใหญ่อพยพมาจากแถบจังหวัดทางภาคกลางและยังคงใช้ภาษาไทยภาคกลางในการสื่อสาร
อย่างไรก็ตามชาวไทยมุสลิมที่หมู่บ้านหนองจอกมีเชื้อสายคนมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ เพราะชาวมุสลิมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบรรพบุรุษของพวกเขาถูกทหารของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในสมัยรัชกาลที่ 1จับมาเป็นเชลยเมื่อครั้งยกทัพไปตีปัตตานีและได้นำเชลยเหล่านั้นไปปล่อยไว้ในพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัดรวมทั้งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
สำหรับพื้นที่ชาวมุสลิมหมู่บ้านหนองจอกอาศัยอยู่เคยเป็นดินแดนเปรียบที่เสมือนป่าช้าที่ชาวไทยพุทธจะนำศพมาฝังเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีวัด ไม่มีเมรุเผาศพและดินแดนแห่งนี้ยังไม่มีผู้คนอาศัยเพราะหลังจากที่ชาวมุสลิมมาตั้งถิ่นฐานในระยะแรกได้ขุดพบซากกระดูกถ้วยกระเบื้องที่ฝังไว้ข้างๆศพพร้อมมีเงิน(เงินปากผี) ถึงสองแห่งจึงเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นที่ที่มีการนำศพมาฝัง อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดในเรื่องนี้
เมื่อมีชาวมุสลิมมาอยู่มากขึ้นจึงเริ่มมีการก่อสร้างมัสยิด เมื่อปี พ.ศ.2493 โดยใช้ชื่อว่ามัสยิดศาลามุรเราะฮ์มานโดยมีนายเสนาะ รำมะสิทธิ์เป็นอิหม่าม ต่อมาปีพ.ศ. 2502 ได้สร้างมัสยิดขึ้นอีกหลังแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนปัจจุบันคือมัสยิดอิกอมุสซอลาฮ์โดยให้นายนายเสนาะ รำมะสิทธิ์ทำหน้าที่อิหม่าม ส่วนมัสยิดซาลามุรเราะฮ์มานมีนายเลาะ อิสิงห์จันทร์เป็นอิหม่ามปีพ.ศ.2504 นายเลาะ อิสิงจันทร์ได้อุทิศที่ดินเพื่อให้สร้างโรงเรียนขึ้นในหมู่บ้านและได้ตั้งชื่อว่าโรงเรียนบ้านหนองจอก ตามสภาพพื้นที่ ที่เป็นที่ลุ่มมีดอกจอกขึ้นหนาแน่น ต่อมาปี พ.ศ. 2505 เกิดวาตภัยครั้งใหญ่ทำให้โรงเรียนที่สร้างขึ้นพังเสียหายและได้มีการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ทดแทน
ในระยะแรกที่อพยพมาอยู่ก็ได้ประกอบอาชีพทำนาซึ่งเป็นวิถีชีวิตเมื่อครั้งอาศัยอยู่ในจังหวัดภาคกลางต่อมา ตัดไม้ฟืนรถไฟส่งขายให้การรถไฟ ต่อก็ตัดหวาย(หวายหนิม)ขาย หลังจากนั้นหาปลา ตัดไม้เผาถ่านทำเหมืองแร่ดีบุกที่หมู่บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา ปลูกผัก ปัจจุบันอาชีพหลักของคนในพื้นที่คือทำสวนปาล์มน้ำมัน เลี้ยงปลาในกระชัง และทำการประมงน้ำจืด






มัสยิดอิกอมุสซอลาฮ์
ที่ตั้งเลขที่: 37  หมู่ที่: 4  ถนน/ตรอก/ซอย:   ตำบล/แขวง: ท่าสะท้อน  
อำเภอ/เขต: พุนพิน   จังหวัด: สุราษฎร์ธานี   รหัสไปรษณีย์: 84000  เบอร์โทรศัพท์: 089-735608
จำนวนผู้เข้าชม: 8,584