มัสยิดบาเนียดารุสสลาม(ปากิสตาน) (ทะเบียนเลขที่: 048)

ประวัติความเป็นมาฯ

มัสยิดบาเนียดารุสสลาม(ปากิสตาน)
รวบรวมข้อมูลโดย อิหม่ามสุเทพ จุนเด็น
เรียบเรียงข้อมูลโดย ผศ.ดร.มนูญ โต๊ะอาจ
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2563

ความเป็นมา
เมื่อประมาณ พ.ศ.2450 ชาวปากีสถานกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ต่างแยกย้ายกันไปอาศัยในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสาน และบางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร รวมถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวปากีสถานที่มาอยู่ในประเทศไทยไม่ว่าพื้นที่ภาคใดก็ตาม จะประกอบอาชีพที่ตนเองมีความถนัดคือการเลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ วัวและควาย บางส่วนทำนา บางส่วนค้าขายผ้า
ชาวปากีสถานที่มาอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ อำเภอท่าชนะ ส่วนหนึ่งค้าขายผ้าในตลาดหนองหวาย บางส่วนทำนา และมีบางส่วนก็เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ส่งขึ้นตู้รถไฟไปขายที่หาดใหญ่ และมีบางส่วนซึ่งมีนายคานวะลี ยุมาดีน นายลานมัคหมัด ยุมาดีน นายมูลา ฮารุดีน นายยุมราช นิกาหลี เป็นกลุ่มผู้นำในชุมชนห้วยแซะ ซึ่งจับจองที่ดินทำกินในหมู่ 2 บ้านห้วยแซะ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายขายเช่นเดียวกัน ชาวปากีสถานต่างก็ไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ สร้างครอบครัว มีลูกหลาน ที่เกิดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น การปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ การละหมาด ก็จะปฏิบัติกันเฉพาะในครอบครัวตนเอง เมื่อแต่ละครอบครัวต่างมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น ผู้อาวุโสในพื้นที่จึงปรึกษาหารือกันว่าควรจะสร้างมัสยิดในชุมชนห้วยแซะขึ้นหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในการประกอบศาสนากิจและเป็นศูนย์รวมในการพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งเพื่อใช้เป็นที่พักเมื่อมีแขกจากพื้นที่ห่างไกลมาเยี่ยมเยือน นายคานวะลี ยุมาดีนจึงเสนอยกที่ดินจำนวน 4 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สร้างมัสยิด และนายกายาหมัด ฮารุดีน เสนอที่จะรับผิดชอบเรื่องการก่อสร้างอาคารมัสยิด แต่ยังไม่ทันจะเริ่มสร้างมัสยิดนายกายาหมัด ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชิวิตเสียก่อน ที่ดินจำนวน 4 ไร่จึงถูกทิ้งว่างเปล่าในช่วงระยะเวลาหนึ่งเนื่องจากไม่มีงบประมาณที่จะก่อสร้าง จากนั้นกลุ่มคนในชุมชนจึงรวมตัวปรึกษากันอีกครั้ง ประกอบด้วยนายอะหมัด นิกาหลี นายหลี ฮารุดีน นายนนมักหมัด ยุมาดีน นายสดาหมัด ยุมาดีน นายคานวะลี ยุมาดีน นายมูซา นิกาหลี นายซาเอ็ช มะลัก นายเจริญ หวันละ นางไรหนับ ยังกิเร นางอู้สน ฮารุดีน ร่วมกันจัดทำหนังสือขอรับบริจาคจากคนเชื้อสายปากีสถานในต่างจังหวัดที่พอมีทุนทรัพย์ช่วยบริจาคสมทบทุนเพื่อสร้างมัสยิด เมื่อรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่งจึงจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง เหล็ก หินทราย ยังไม่ทันจะได้เริ่มก่อสร้าง นายอะหมัด นิกาหลี ได้เสียชีวิตด้วยปมขัดแย้งทางการเมือง วัสดุก่อสร้างที่ซื้อมาเตรียมไว้ก็ต้องถูกกองทิ้งไว้ทั้งหมดจนเสียหาย ผู้ที่เหลืออยู่ต่างแยกย้ายไปทำงานในต่างจังหวัด ส่วนผู้ที่อยู่ในพื้นก็มีแต่เด็กและคนชรา
ในปี พ.ศ.2542 นายอับดุลเลาะ นิกาหลี ได้เอาที่ดินแปลง 4 ไร่นี้ไปเสนอของบประมานก่อสร้างไว้กับมูลนิธิฟื้นฟูมรดกอิสลามภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค(ประเทศคูเวต) แต่ก็อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาจากมูลนิธิ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2546 ช่วงปิดเทอมลูกหลานชาวบ้านห้วยแซะที่อยู่ต่างจังหวัดได้กลับมาเยี่ยมบ้าน มาพบกันและได้พูดคุยปรึกษากันว่าที่ดินถูกที่จะก่อสร้างมัสยิดถูกทิ้งรกร้างเป็นเวลานานแล้ว น่าจะมาร่วมกันสร้างมัสยิดให้สำเร็จ ตามความตั้งใจของนายคานวะลี ที่ได้มอบที่ดินไว้ โดยร่วมกันตั้งคณะกรรมการทำงานเพื่อการก่อสร้างมัสยิด ประกอบด้วย นายสดาหมัด ยุมาดีน นายนนมักหมัด ยุมาดีน นายการีม นิกาหลี นายอุเส็น หลีหรับ นายวีระ เพชรวงศ์ นายอิบรอฮีม นิกาหลี นายอับดุลตาวาฟ ยุมาดีน นายอับดุลเลาะห์ นิกาหลี นายหลี ฮารุดีน นายการีม โรจนจิรางกูร นายการีม ยุมาดีน นายมานาน ยุมาดีน นายสุดใจ หัสโส๊ะ และ นายสุเทพ จุนเด็น โดยมอบหมายให้ นายสุดใจ หัสโส๊ะ ทำหน้าที่ฝ่ายการเงิน และนายสุเทพ จุนเด็น เป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดร่วมก่อสร้างมัสยิดในครั้งนี้ โดยได้รวบรวมเงินสบทบทุนการก่อสร้างก้อนแรกจากลูกหลานบ้านห้วยแซะด้วยกันเองครอบครัวละ 10,000 (หนึ่งหมื่น) บาทบ้างหรือตามความสามารถของแต่ครอบครัวหรือแต่ละคน เงินทุนก้อนแรกที่ได้รวมกันเป็นจำนวน 152,460 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นสองพันสี่ร้อยหกสิบบาทถ้วน) นำไปจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์การก่อสร้าง เพื่อสร้างรากฐานชั้นล่างของมัสยิดเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวกว้าง 10 เมตร ยาว 16 เมตร หลังจากนั้นนายนนมักหมัด ยุมาดีน ได้ออกเดินทางไปต่างจังหวัดขอรับบริจาคเงินจากคนไทยเชื้อสายปากีสถานเพื่อก่อสร้างมัสยิดต่อให้สำเร็จ แต่ด้วยสุขภาพของนายสดาหมัดและนายนนมักหมัด ยุมาดีน ไม่แข็งแรง การออกหาเงินรับบริจาคจึงหยุดลง เงินที่ได้รับบริจาคก็หมดลงส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างมัสยิดต้องหยุดการก่อสร้างต่อ
ในช่วงระยะเวลาที่มัสยิดกำลังต้องหยุดการก่อสร้างนั้น ทางมูลนิธิมูลนิธิฟื้นฟูมรดกอิสลามภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค(ประเทศคูเวต) ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีงบประมาณที่จะสร้างมัสยิดเข้ามาหลายหลัง นายอับดลเลาะ นิกาหลี ซึ่งได้เอาที่ดินแปลงนี้ไปขอสร้างมัสยิดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2542 จึงไปร่วมประชุมที่มูลนิธิฯและที่ประชุมมีมติอนุมัติทุนก่อสร้าง “มัสยิดบาเนียดารุสสลาม” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นครึ่งขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร โดยใช้ช่างก่อสร้างจากมูลนิธิฯ ในช่วงแรกคณะกรรมการชุดก่อสร้างมัสยิดมีความเห็นว่าจะไม่รับงบประมานจากมูลนิธิฯ เนื่องจากได้เริ่มรากฐานสร้างมัสยิดไปบ้างแล้วเพียงแต่ขาดงบประมานที่จะก่อสร้างให้สำเร็จ แต่เมื่อทบทวนกันอีกครั้งมีความคิดเห็นร่วมกันเห็นว่าควรรับงบจากมูลนิธิเพื่อให้ก่อสร้างมัสยิดไว้ก่อนเงื่อนไขของมูลนิธิเพื่อจะได้มีอาคารมัสยิดที่สมบูรณ์ใช้เป็นอาคารมัสยิดชั่วคราวเพื่อใช้ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันไปก่อน เพราะการจะสร้างมัสยิดอาคารถาวรตามที่ตั้งเจตนารมณ์ร่วมกันของคนในชุมชนให้สำเร็จด้วยกันเองคงต้องใช้เวลานานและต้องใช้งบประมานอีก คณะกรรมการชุดร่วมก่อสร้างมัสยิดจึงมีความเห็นร่วมกับรับงบประมานก่อสร้างจากมูลนิธิ จากนั้นช่างจากมูลนิธิฯ จึงได้มาดูสถานที่และเริ่มก่อสร้างจนกระทั่งอาคารมัสยิดที่ใช้เป็นอาคารชั่วคราวหลังแรกแล้วเสร็จและส่งมอบให้กับชุมชนเมื่อวันที่ 7 เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2547
การดำเนินการขอจดทะเบียนมัสยิด
ในปี พ.ศ.2553 ฮัจยีอุสมาน หมินก้าหรีม นายทะเบียนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้แนะนำให้ไปขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2553 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงนัดประชุมสัปบุรุษของมัสยิดเพื่อแต่งตั้งผู้ดำเนินการขอจดทะเบียน ซึ่งมติในที่ประชุมได้เสนอตั้งชื่อมัสยิด “บาเนียดารุสสลาม” และแต่งตั้งให้นายสุเทพ จุนเด็น เป็นอีหม่าม นายมะรอซาลี เจะเล็ง เป็นคอเต็บ นายสัญญา หวังเจริญ เป็นบีหลั่น ได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินของมัสยิดจำนวน 4 ไร่ซึ่งนายคานวะลี ยุมาดีน ได้มอบให้แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวให้ แต่เอกสารยังเป็น สค.๑ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยประกาศเลิกใช้ สค.๑ ไปแล้วหลังจากนั้นได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ ใหม่จนครบถ้วนและยื่นเอกสารอีกครั้งต่อพนักที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยา เมื่อวันที่ 1 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2553 ดำเนินการจนกระทั่งแล้วเสร็จและได้รับโฉนดที่ดิน วันที่ 13 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2557 จากนั้นวันที่ 20 เดือน เมษายน พ.ศ. 2557 ได้นำเอกสารการขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเสนอต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2557 จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ประกาศให้มัสยิดบาเนียดารุสสลาม(ปากิสตาน) ตั้งอยู่เลขที่ 14/1 หมู่ที่ 2 ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมัสยิดเลขที่ 48(1/2557) และในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ได้ประชุมเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดชุดแรก ที่ประชุมมีมติให้ นายสุเทพ จุนเด็น เป็นอีหม่าม นายสุดใจ หัสโส๊ะ เป็นคอเต็บ นายสัญญา หวังเจริญ เป็นบิหลั่น นายบาราม สาคเคเล นายวีระ เพชรวงค์ นายเผด็จ วะฮับ นายอับดลตาวาฟ ยุมาดีน นายสุธี ดุลยรัตนานนท์ นายสมคิด เนตรทอง นายญาณกิตติ์ ฮารุดีน นายไชยพงศ์ กระแสรสินธุ์ นายจีรัชญ์ โมระมัต นายสนั่น เหม็นเตล็บ นายนันทวัฒ ยุมาดีน และ นายนิคม เสือทิม ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารมัสยิดชุดแรก
การก่อสร้างต่อเติมอาคารมัสยิด
หลังจากได้ทะเบียนมัสยิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงถือโอกาสจัดงานการกุศลฉลองทะเบียนมัสยิดใหม่ขึ้นในระหว่างวันที่ 2-3 เดือน มกราคม พ.ศ. 2558 ภายใต้ชื่องานว่า "อรุณรุ่งที่ทุ่งบาเนีย" มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารายได้ต่อเติมอาคารมัสยิดที่ได้สร้างรากฐานไว้แล้วให้สำเสร็จ โดยเชิญ นายสวาป เผ่าปาทาน รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและอดีตนายกสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถาน เป็นประธานในพิธี ซึ่งการจัดงานครั้งนั้นได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ นำเงินร่วมบริจาคจากการจัดงานมาสร้างมัสยิดต่อจนกระทั่งใช้เป็นที่ละหมาดได้ จากนั้นเมื่อวันที่ 5-6 เมษายน 2562 คณะกรรมการมัสยิดได้ประชุมและจัดงานการกุศลอีกครั้งเพื่อเป็นกิจกรรมงานประจำปีของมัสยิด ใช้ชื่องานว่า "ธารน้ำใจรินสู่บาเนีย" ครั้งที่ 1โดยในครั้งนี้ได้เชิญนายดนัย ปาทาน นายกสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถาน เป็นประธานในพิธี การจัดงานคสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้เงินรายได้ทั้งหมดนำมาใช้ในการก่อสร้างต่อเติมมัสยิด และมีการจัดงานหารายได้และรับบริจาคเพื่อใช้ในการบริหารจัดการมัสยิดถือเป็นงานประจำปีจากครั้งนั้นเป็นต้นมา





มัสยิดบาเนียดารุสสลาม(ปากิสตาน)
ที่ตั้งเลขที่: 14/1  หมู่ที่: 2  ถนน/ตรอก/ซอย: -  ตำบล/แขวง: ประสงค์  
อำเภอ/เขต: ท่าชนะ   จังหวัด: สุราษฎร์ธานี   รหัสไปรษณีย์: 84170  เบอร์โทรศัพท์: 0817881321
จำนวนผู้เข้าชม: 10,464