ประวัติมัสยิดบ้านคลองแห้ง
มัสยิดนี้เป็นสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์และสังคมตามหลักฐานที่ได้บันทึกปากคำของผู้สูงอายุหลายท่านเล่าต่ออย่างตรงกันว่า เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองกระบี่ยังคงเป็นแขวงปกาสัย ในสมัยนั้นบ้านคลองแห้งเป็นเส้นทางเดินผ่านข้ามแหลมมลายู โดยมาจากจังหวัดตรังผ่านไปยังเมืองไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีคนเดินผ่านโดยใช้เส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อคนเหล่านั้นเห็นความอุดมสมบูรณ์ของสถานที่แห่งนี้ จึงได้หยุดพำนักทำมาหากินอยู่ โดยปราศจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากคนสมัยก่อนนั้นยังด้อยการศึกษาและวัฒนธรรม
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2415 ซึ่งตรงกับสมัยรัชการที่ 5 แขวงปกาสัยเดิมก็ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองกระบี่ ในตอนนั้นมีผู้ทรงธรรมทางศาสนาท่านหนึ่ง เดินทางมาจากเกาะชวาประเทศอินโดนีเซีย ชื่อฮัจยีมานอรด์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาอิสลามมากคนหนึ่ง มาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านคลองแห้งแห่งนี้ ท่านได้เผยแพร่ศาสนาและได้เรียกร้องให้ชาวบ้านบริจาคที่ดินเพื่อสร้างมัสยิด (สุเหร่า) ขึ้นหนึ่งหลัง ซึ่งนับว่าเป็นมัสยิดหลังแรกของบ้านคลองแห้ง หรือของจังหวัดกระบี่ก็ว่าได้ เพื่อเป็นศาสนสถานของชาวบ้านและคนทั่วไปได้เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และรับการอบรมตามหลักธรรมของศาสนาอิสลาม ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาตั้งอยู่ในธรรมวินัยทางศาสนาและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ชาวบ้านจึงให้ชื่อมัสยิดแห่งนี้ว่า มัสยิดบ้านคลองแห้ง ตั้งแต่นั้นมา
พ.ศ. 2443 ฮัจยีมานอรต์ชราลง ชาวบ้านจึงแต่งตั้งให้ นายฮัจยีดีน บุตรแขก ซึ่งเป็นศิษย์ของฮัจยีมานอรต์เป็นโต๊ะอีหม่าม ผู้นำมัสยิดสืบมา ฮัจยีดีนเป็นผู้มีศีลธรรมและมีความรู้ความสามารถทางด้านศาสนาเหนือกว่าคนทั้งหลาย จึงเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือของคนทั่วไป หากมีการขัดข้องหรือมีข้อพิพาทกัน ไม่ว่าในทางสังคมหรือทางศีลธรรมชาวบ้านก็จะมาหาท่าน ท่านก็ได้ใช้มัสยิดแห่งนี้เป็นสถานที่อบรม และพิจารณาคดีชี้ขาดด้วยความเป็นธรรม ตามกฎบัญญัติศาสนาตลอดมา
พ.ศ. 2445 สมัยพระอิศราธิชัย (หมี ณ ถลาง) เป็นเจ้าเมืองกระบี่ ท่านเห็นความสำคัญของมัสยิดแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่อบรมนำความสงบสุขมาสู่ท้องถิ่นและประชาชน อีกทั้งสามารถแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นอย่างมาก ท่านได้นำราษฎรในหมู่บ้านและตำบลอื่นๆ มาเยี่ยมดูเป็นตัวอย่างและบำเพ็ญประโยชน์ด้วยมือของท่านเอง พร้อมกับชาวบ้านหลายหมู่บ้านร่วมกันพัฒนา โดยขยายบุกเบิกถากถางบริเวณมัสยิดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างโรงเรียนสอนภาษาไทยในบริเวณมัสยิด ซึ่งเป็นโรงเรียนหลังแรกของหมู่บ้านคลองแห้ง พร้อมด้วยท่านประกาศว่า มัสยิดบ้านคลองแห้งนี้ถือเป็นประวัติการณ์ของจังหวัดกระบี่ตลอดไป และยังมีข้อพิศดาลอีกประการหนึ่งของมัสยิดแห่งนี้ เช่น ถ้าหากใครไม่เคารพ ไปทำให้เกิดความสกปรกหรือลบหลู่ดูหมิ่นประการใดก็ดี มักจะมีการเจ็บป่วยขึ้นหรือเกิดเป็นอันตรายแก่ผู้นั้นเสมอๆ แม้แต่มัสยิดอื่นๆ สมัยต่อมาจนปัจจุบันก็เช่นกัน
พ.ศ. 2478 ท่านฮัจยีดีน เห็นว่ามัสยิดคับแคบและชำรุดทรุดโทรมมาก จึงเชิญชวนชาวบ้านก่อสร้างมัสยิดกึ่งถาวรขึ้นใหม่ในที่หลังเก่า เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมและอบรมสืบเนื่องต่อไป
พ.ศ. 2492 ฮัจยีดีนได้แก่ชราลงชาวบ้านจึงแต่งตั้งให้ฮัจยีสมัน เสกสรรค์ ขึ้นเป็นโต๊ะอีหม่ามแทน ฮัจยีสมันก็บริหารกิจการมัสยิดให้เจริญขึ้นตามลำดับ และจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2492 มีชื่อตามทะเบียนว่า มัสยิดบ้านคลองแห้ง ทะเบียนเลขที่ 7 หมู่ที่ 5 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อท่านชราลง ชาวบ้านจึงแต่งตั่งนายฮัจยีโดด บุตรแขก ให้ดำรงตำแหน่งโต๊ะอีหม่าม และเมื่อนายฮัจยีโดด บุตรแขก มีกิจธุระต้องไปต่างประเทศเพื่อบำเพ็ญฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอารเบีย จึงมอบหมายให้นายฮัจยีเส็น ศรีหมาด รักษาการแทน ท่านก็ได้บูรณะมัสยิดเป็นอย่างดี เมื่อนายฮัจยีโดด บุตรแขก กลับมาท่านก็รับหน้าที่เหมือนเดิมและบริหารกิจการมัสยิดเป็นอย่างดีจนกระทั่งท่านชราลง ชาวบ้านจึงแต่งตั้งให้นายดลเล๊าะ วะจิดี เป็นโต๊ะอีหม่ามแทน ท่านปฏิบัติบริหารกิจการของมัสยิดเป็นอย่างดี จนกระทั่งท่านได้ลาออกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ชาวบ้านจึงแต่งตั้งนายสา (อีสา) บุตรแขก ให้ดำรงตำแหน่งโต๊ะอีหม่ามแทน และท่านบริหารกิจการมัสยิดด้วยดีตลอดมา
เมื่อ พ.ศ. 2516 ทางคณะกรรมการมัสยิดพร้อมด้วยที่ปรึกษาและประชาชนรวม 3 หมู่บ้านซึ่งเป็นมุสลิมทั้งสิ้นได้ประชุมร่วมกัน โดยที่ประชุมมีมติให้ก่อสร้างมัสยิดถาวรขึ้นในที่บริเวณที่ดินของมัสยิดมีเนื้อที่กว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร เนื่องจากมัสยิดหลังเก่าคับแคบ และชำรุดทรุดโทรมเป็นส่วนมาก เพื่อเจริญรอยตามบรรพบุรุษที่ได้สร้างให้เป็นเกียรติประวัติไว้อย่าให้เสื่อมสลายไป
ที่มา : รวบรวมโดย ผู้ใหญ่หนัน สะมาน 21 มีนาคม 2523
จัดพิมพ์โดย นายสุทิน สมทัด 31 มกราคม 2564