มัสยิดจำปาสระ (ทะเบียนเลขที่: 001)

ประวัติความเป็นมาฯ

ประวัติความเป็นมาของมัสยิดจำปาสระ
ทะเบียนเลขที่ 1หมู่ที่ 1 ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่
เดิมทีประชากรในเขตตำบลเขาทองทั้งหมด รวมพื้นที่ไปจนถึงเขตตำบลหนองทะเลในปัจจุบัน ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีตำบลหนองทะเล การรวมตัวละหมาดวันศุกร์จะทำกันที่มัสยิดบ้านบ่อกั้ง(หัวพรุ)ซึ่งติดอยู่ในเขตการดูแลของมัสยิดท่าพรุปัจจุบัน ซึ่งมัสยิดถูกสร้างขึ้นบนที่ดินของฮัจญีแทนหรือ นายเต๋ พวงนุ่น ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร บริเวณของมัสยิดจะมีโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนหลังแรกในเขตตำบลเขาทอง ปัจจุบันที่ดินบริเวณนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ ของนายศุภศักดิ์ บุตรหลี ระยะเวลาผ่านพ้นไปหลายปีประชากรและบ้านเรือนเริ่มหนาแน่นมากขึ้นประจวบกับฮัจญีแทน พวงนุ่นและครอบครัวย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่หมู่บ้านท่าเลน หมู่ที่ 3 ต.เขาทอง ในปัจจุบัน ประชากรบางส่วนติดตามไป สัปบุรุษในหมู่บ้านบ่อกั้งที่มาร่วมละหมาดวันศุกร์ก็ลดจำนวนลง จึงมีมติรื้อมัสยิดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเพื่อไปสร้างใหม่ใน 2 หมู่บ้าน คือเขาเทียมป่า และบ้านเขากลม ช่วงระหว่างนั้นอยู่ในปี พ.ศ.2478 ในส่วนของมัสยิดที่ปลูกขึ้นใหม่ของหมู่บ้านเขาเทียมป่านั้นถูกสร้างขึ้นบนที่ดินวากัฟของนายลิบ มุคุระ บนเนื้อที่ 1 ไร่เศษ โดยลักษณะมัสยิดสร้างจากอิฐ และไม้เป็นส่วนประกอบ ลักษณะที่โดดเด่นเชิงชายหลังคาและรั้วไม้ต่อกับฝาผนังมัสยิดครึ่งหนึ่งนั้นเป็นไม้แกะสลักทั้งสิ้น โดยนายลิบ มุคุระ และช่างชาวจีน(ไม่ปรากฏนาม) ร่วมกันแกะสลัก ระยะเวลาในการก่อสร้างจำกัด เพื่อให้เสร็จพร้อมสำหรับการละหมาดวันศุกร์ เร่งสร้างฐานและก่อผนังครึ่งหนึ่งที่ทำจากอิฐและเหลือไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อติดตั้งฝาผนังที่เป็นไม้สลัก โดยใช้ระยะเวลาไม่นานนักโดยความร่วมมือของคนในหมู่บ้านและให้ชื่อว่า มัสยิดจำปาสระ(ประวัติที่มาของชื่อหมู่บ้านและชื่อมัสยิดจะนำเสนอในส่วนที่ 2) ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นมัสยิดหลังแรกของจังหวัดกระบี่ ในวันที่ 2 มีนาคม 2492 และแต่งตั้งให้นายสมัน บำรุง ดำรงตำแหน่งอิหม่าม นายลมัยเกาะ ชายพงษ์ ดำรงตำแหน่งคอเต็บ นายละไมยแกน บำรุง ดำรงตำแหน่งบิหลั่น
ภายหลังจากปลูกมัสยิดเสร็จแล้ว ก็ดำเนินการปลูก นะซ๊ะ (อาคารเอนกประสงค์) มีลักษณะเป็นอาคารไม้มีใต้ถุน ฝั่งทิศตะวันออกตรงทางขึ้นมีกลองใหญ่โบราณหน้าเดียวทำจากหนังสัตว์ไว้สำหรับตีเพื่อเรียกประชุมลูกบ้านหรือสัปบุรุษ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องขยายเสียง อาคารหลังนี้ทางด้านทิศเหนือจะทำเป็นห้องไว้สำหรับเก็บ ถ้วย จาน ชาม ช้อน หม้อ กระทะ เครื่องครัวของมัสยิดที่ใช้สำหรับทำบุญต่าง ๆ ด้านหน้าจะโล่งเป็นลานกว้างไว้สำหรับนั่งทานอาหารเวลาทำบุญ และเป็นที่วางมัยยิต(ศพผู้ตาย) รอคอยญาติและเวลานำไปฝัง และยังเป็นที่อาบน้ำศพอีกด้วย
หลายปีต่อมาจำนวนสัปบุรุษเพิ่มมากขึ้นจากการเกิด การแต่งงาน และย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำให้มัสยิดหลังเดิมเกิดความคับแคบ จึงมีการประชุมและมติร่วมกันจะดำเนินการสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นบนพื้นที่เดิมแต่ย้ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่มัสยิดปัจจุบัน โดยมีการเสนอความคิดเห็นให้สร้างมัสยิดหลังใหม่ให้มีเสาน้อยที่สุด และไม่ให้มีเสาตรงกลางมัสยิด ดังนั้นจึงร่วมกันคิดและลงมือวาดแปลน โดยนายอิบรอเหม เอ็มยุเด็นเป็นผู้ออกแบบจำลองโดยใช้ไม้ระกำมาเหลาและประกอบเป็นมัสยิดจำลองขึ้นก่อน หลังจากนั้นก็ลงมือก่อสร้างจนได้เห็นเป็นมัสยิดหลังปัจจุบัน
ในส่วนที่ 2 จะกล่าวถึงประวัติที่มาของชื่อมัสยิด "จำปาสระ" แต่เริ่มเดิมทีหมู่บ้านในสะ คือ ชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ทั้งหมดภายหลังพี่น้องในหมู่บ้านนับถือ 2 ศาสนา คือ ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาพุทธ แต่ความสัมพันธ์ช่างแน่นแฟ้นและรัก สามัคคีกันมาก โดยใช้เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างกัน คือ ถนนฝั่งทิศตะวันออกเป็นพี่น้องชาวพุทธ ฝั่งทิศตะวันตกเป็นชาวมุสลิม ในการคิดตั้งชื่อมัสยิดซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการอยู่ร่วมกัน เลยร่วมกันออกความคิดเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ขบคิดถึงที่ไปที่มาแห่งชื่อนั้น คำว่า "จำปา" นั้นมาจากชื่อของหมู่บ้านมุสลิม คือ"เขาเทียมป่า " ส่วนคำว่า "สระ" นั้นมากจากชื่อหมู่บ้านพี่น้องชาวพุทธ คือ คำว่า "ในสระ" นัยยะแห่งชื่อมัสยิดแอบแฝงความรัก สามัคคีของคนในชุมชนหมู่ที่ 1 ต.เขาทองไว้ด้วยกันตลอดระยะเวลาหลายช่วงอายุคน ส่วนคำว่า “เขาเทียมป่า” คนสมัยก่อนจะเดินทางไปทะเลหรือไปทำนาช่วงระยะทางตั้งแต่ในสระจนถึงท่าดานตรงทางทิศตะวันตกของมัสยิด จะมีผู้ภูเขา 2 ลูกคนละฝั่ง คือ ฝั่งขวามือ คือเขาดินมีต้นไม้ใหญ่น้อยปกคลุมหนาแน่น ส่วนฝั่งซ้ายมือเป็นภูเขาหิน ซึ่งถ้ามองผ่านหรือขับรถผ่านจะสังเกตเห็นว่าภูเขาทั้ง 2 ลูกมีความสูงเท่ากัน จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน นั่นเอง

แผนที่นำทาง Google Map




มัสยิดจำปาสระ
ที่ตั้งเลขที่: 381  หมู่ที่: 1  ถนน/ตรอก/ซอย: เขาเทียมป่า  ตำบล/แขวง: เขาทอง 
อำเภอ/เขต: เมืองกระบี่   จังหวัด: กระบี่   รหัสไปรษณีย์: 81000  เบอร์โทรศัพท์: 0818929159
จำนวนผู้เข้าชม: 11,945