ชุมชนแห่งนี้มีสมาชิกจำนวน 56 คน ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์นิคม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร โดยมอบที่ดินให้ทำการเกษตร ห้ามนำไปทำอย่างอื่น ทางชุมชนได้ขออนุญาตจากทางหัวหน้าหน่วยสหกรณ์นิคมเพื่อขอสถานที่ก่อสร้างมัสยิด และเริ่มดำเนินการก่อสร้างมัสยิดยกเสาต้นแรกเป็นรากฐานในวันที่ 10 สิงหาคม 2515 ในภายหลังชุมชนมัสยิดเริ่มมีสัปปุรุษจากหลายจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครนายก ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปทุมธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช อพยพเข้ามาอยู่เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งชื่อมัสยิดว่า “มัสยิดมูฮาญิรีน” (ตามหลักภาษาอาหรับหมายถึงอพยพ) เป็นมัสยิดหลังแรกของจังหวัดชุมพรที่ขอจดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 ต่อมาที่ประชุมมีมติให้ก่อสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กถาวร และจัดงานวางศิลารากฐานโดยมีท่านจุฬาราชมนตรีอาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด มาทำการวางรากฐานให้ในวันที่ 20 เมษายน 2538 เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจของชาวมูฮาญิรีนเป็นที่สุด จนกระทั่งวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 ได้เกิดวาตภัยไต้ฝุ่นเกย์สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก หลังจากเข้าสู่สภาวะปกติแล้วจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างมัสยิดที่ยังค้างอยู่จนแล้วเสร็จ ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นระยะเวลา 12 ปี กับอีก 14 วัน และได้จัดงานรวมน้ำใจสู่มัสยิด มูฮาญิรีนเรื่อยมา วัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อหารายได้ต่อเติมอาคารมัสยิด บำรุงการศึกษาและเพื่อเป็นค่าตอบแทนคณะครูผู้สอนศาสนา